5 ปัจจัยเพื่อความแข็งแรงขององค์กร
คนเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะนำพาองค์กรก้าวไปไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เราไม่ได้ต้องการแค่บุคลากรที่มี IQ สูง และ EQ ดี แต่เรายังต้องการบุคลากรที่แข็งแรงด้วย
ความใส่ใจจากผู้นำไม่ใช่แค่เพื่อแสดงว่าพวกเขาสำคัญ แต่ยังเปรียบได้กับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กองกำลังขององค์กร มีความพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายต่างๆและลุยไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง
ด้านสุขภาพกาย ได้แก่ การออกกำลังกาย อาหาร และหลักด้าน Ergonomic สรีรศาสตร์ ด้านสุขภาพจิต ได้แก่ ความเครียด การนอนหลับ และความสงบใจ
1. การออกกำลังกาย Physical Health
หลายปีก่อน มีการฝึกวิ่งมาราธอนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผู้นำ ด้วยแนวคิดที่ว่าเมื่อฝึกร่างกายให้แข็งแกร่ง ก้าวข้ามความท้าทายได้จะนำไปสู่ความแข็งแกร่งทางจิตใจด้วย แต่ในที่นี้หมายรวมถึงการออกกำลังกายที่หลากหลาย
กิจกรรมออกกำลังภายสำหรับพนักงานในออฟฟิศมีหลากหลาย เช่น แอโรบิค วิ่ง โยคะ หากสถานที่เอื้ออำนวย ก็มีทั้งฟิตเนส เวทเทรนนิ่ง สระว่ายน้ำ สนามแบดมินตัน เป็นต้น
ลูกค้าของผู้เขียนให้สวัสดิการพนักงานเป็นสมาชิกของฟิตเนสที่มีหลายสาขา อำนวยความสะดวกให้พนักงานได้เลือกใช้ตามสะดวก บางบริษัทจะเช่าสนามฟุตบอลหรือไปตีแบตมินตันทุกสัปดาห์
2. หลักด้านสรีรศาตร์ Ergonomic
ไม่ว่าบุคลากรจะมานั่งทำงานที่ออฟฟิศหรือทำงานจากที่บ้าน การมีอุปกรณ์สำนักงานที่ถูกหลักสรีรศาสตร์ Ergonomic ย่อมทำให้เกิดความสบาย ไม่ปวดเมื่อย และที่สำคัญไม่เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
จริงอยู่ว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบให้เหมาะกับสรีระของผู้ใช้มักมีราคาแพง คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ซื้อไว้ใช้ส่วนตัวที่บ้าน ในช่วง WFH บริษัทหลายแห่งจึงให้พนักงานยืมโต๊ะและเก้าอี้กลับไปใช้นั่งทำงานที่บ้าน
ความใส่ใจของผู้นำแม้ในเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ก็ส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาพกายแข็งแรง ทำงานได้อย่างไม่ขัดข้องเพราะความไม่สบายกาย
3. อาหารเพื่อสุขภาพ Nutrition
กระแสการกินอาหารเพื่อสุขภาพได้แพร่หลายเข้าไปในหมู่คนทำงาน เราจะได้ยินคำว่า อาหารคลีน อาหารคีโต วีแกน แพลนท์เบส หรือการกินอาหารแบบ IF เป็นต้น ตามสถานีรถไฟฟ้าจะมีอาหารเพื่อสุขภาพแบบต่างๆขายแทบจะทุกสถานี แสดงว่าการเลือกอาหารก็อยู่ในใจและหลายคนก็เลือกและเคร่งครัดจริงจัง
การให้ความรู้กับบุคลากรนอกจากเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านสุขภาพแล้ว ยังเป็นการดูแลพนักงานแบบป้องกันการเกิดโรค NCD ต่างๆด้วย
โรงงานของลูกค้าผู้เขียนหลายแห่งจัดให้มีข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวขาวน้ำตาลต่ำ น้ำพริกผักลวก เป็นสวัสดิการทุกวัน
4. สุขภาพจิต Mental Health
นอกจากสุขภาพกายแล้วสุขภาพจิตก็สำคัญอย่างมาก ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในยุคโควิดระบาด รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป บางครอบครัวต้องดูแลลูกที่เรียนออนไลน์ไปด้วย บางองค์กรมีบุคลากรติดโควิด ยอดขายหาย คอมมิชชั่นหด ปัญหาสารพัดที่ทำให้สุขภาพจิตไม่แข็งแรงเหมือนเดิม
4.1. ความเครียด Stress Management
ความเครียดเป็นพลังงานลบที่ต้องมีทางระบายออก หากสะสมไว้มากๆเกินกว่าคนๆหนึ่งจะรับไว้ได้ การปลดปล่อยพลังงานลบไม่ว่าจะในรูปแบบของการมีอารมณ์รุนแรง บางคนเบลอเหมือนเครื่องแฮงค์ ก็ล้วนส่งผลกระทบต่อการทำงานและต่อผลงานทั้งสิ้น
บางคนเลือกวิธีที่จะคุยกับโค้ชอาชีพเพื่อที่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง การ Coaching ทำให้มีความตระหนักรู้และเท่าทันอารมณ์ของตนเองและหาวิธีที่จะคลายความเครียดตามความเหมาะสมของแต่ละคน
4.2. การนอนหลับ Sleep Management
แพทย์แนะนำให้เรานอนหลับวันละ 8 ชั่วโมง แต่หลายคนมีปัญหาว่านอนน้อยกว่าจำนวนชั่วโมงที่แนะนำ บางคนนอนไม่หลับ ทำให้ร่างกายพักไม่เต็มที่ เราจึงเห็นโฆษณาขายหมอนและที่นอนจากวัสดุประเภทต่างๆที่ช่วยให้เรานอนหลับได้สบายขึ้น บ้างก็แนะนำเครื่องหอม อโรมากลิ่นต่างๆ อาหารเสริม ไปจนถึงเสียงเพลงกล่อมนอน หรือโคมไฟที่มีเทคโนโลยีที่ช่วยการนอน เป็นต้น
ขนาดของธุรกิจที่เกี่ยวกับการนอนหลับตามนาฬิกาชีวภาพขยายเพิ่มขึ้นทุกปี มีนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโรคไวรัสระบาดที่ทำให้คนมีความเครียดและความกังวลใจอย่างมากแบบไม่เคยมีมาก่อน
องค์กรจะดูแลบุคลากรอย่างไรเพื่อให้ยังมีสุขภาพจิตที่ดี รับมือกับความเครียดได้ นอนหลับอย่างเพียงพอ ไม่ใช่เพื่อตัวบุคลากรเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อองค์กรด้วย
5. ความสงบใจ Mindfulness
จากประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะโค้ชที่ได้ทำงานกับผู้นำมาไม่น้อย พบว่าความสงบใจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้นำคาดการณ์ได้ดีและตัดสินใจได้เฉียบคม ท่ามกลางข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามา ความไม่แน่นอนที่เข้ามาป่วนความคิด ความโกลาหลของสถานการณ์ องค์กรที่มีบุคลากรที่มีความสงบใจ มีสติในการคิดวิเคราะห์ ใช้ศักยภาพและประสบการณ์ในการบริหารจัดการได้ ถือเป็นจุดแข็งที่มีคุณค่าและสร้างความได้เปรียบให้กับองค์กรได้
ในอดีตถ้าต้องการสมาธิก็ต้องไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม แต่ยุคนี้เราจะเห็นที่ครอบศีรษะเพื่อวัดค่าความนิ่งของสมอง Application ที่ช่วยการฝึกสมาธิ เสียงดนตรี ข้อความเตือนใจประจำวัน ฯลฯ ขายกันอย่างแพร่หลาย สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนให้ความสำคัญกับการฝึกความสงบใจและการมีสติอย่างมาก
องค์กรของเราได้เตรียมเรื่องนี้ให้บุคลากรของเราอย่างไรบ้าง กิจกรรมง่ายๆ ใช้เวลาไม่มากและทำได้บ่อยๆ เพื่อทำให้สุขภาพจิตมี มีสติ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดังต้องการ
การทำ Group Coaching ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คนในองค์กรได้พูดคุยกัน แบ่งปันประสบการณ์ แชร์ความรู้สึก หาทางออกร่วมกัน เป็นกำลังใจซึ่งกันและกันได้
การเอาใจใส่ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของบุคลากรไม่ได้เป็นแค่สวัสดิการที่สร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร แต่กลายเป็นปัจจัยส่งเสริมการสร้างผลลัพธ์ของงานอย่างจริงจัง ยิ่งหลังจากยุคโควิดนี้แล้วองค์กรใดเตรียมความพร้อมให้บุคลากรได้ก่อน ก็จะมีทรัพยากรที่เป็นกองกำลังสำคัญพร้อมเพื่อรับมือกับทุกความท้าทายหลังยุคโควิด
ดร.หนิง ดไนยา ต้ังอุทัยสุข
โค้ชผู้บริหาร นักพัฒนาผู้นำ
ติดตามได้ทาง Line OA คุณจะไม่พลาดบทความพัฒนาผู้นำจากเรา
https://lin.ee/CWQqKwT