โค้ชชิ่งลดความเครียดในช่วงวิกฤติ

โค้ชชิ่งลดความเครียดในช่วงวิกฤติ

ในสถานการณ์วิกฤติโควิดเช่นนี้ เราจะโค้ชตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างไรบ้าง

ตอนนี้จะมีผู้บริหารในองค์กร เจ้าของธุรกิจ ติดต่อเข้ามาเพื่อรับการโค้ชอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่เข้ามาก็ตั้งแต่เครียดมากอยากรู้สึกดีกว่าเดิม บางคนอยากตัดสินใจแต่กังวลว่าดีที่สุดหรือยังอยากได้รับการโค้ชเพื่อคิดให้รอบคอบมากขึ้น บางคนกดดันเรื่องการบริหารจัดการทำอย่างไรให้ยังมีผลประกอบการที่ดีอยู่ เป็นต้น

ในทางการโค้ชก็มีโมเดลหนึ่งที่จะชวนผู้รับการโค้ชคิดให้กระจ่างชัด ฟื้นได้เร็ว และสร้างแผนการลงมือทำเพื่อเดินหน้าต่อได้ โมเดลนี้เรียกว่า RAINS Model ซึ่งเป็นตัวย่อของ 5 ขั้นตอนในการโค้ช หรือการคิดอย่างเป็นระบบ

R - Recognize คือการรับรู้ว่าขณะนี้เรามีความเครียด และความเครียดนี้ประกอบด้วยความคิดหรืออารมณ์อะไร ให้เราตั้งชื่ออารมณ์และความรู้สึกนั้นโดยไม่ต้องพิพากษาตัวเอง เพราะความเครียดนี้เป็นธรรมชาติของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่ปกติของมนุษย์ การให้ชื่อกับความคิดและอารมณ์นี้จะทำให้เราสามารถแยกแยะความคิดและอารมณ์นี้ออกจากอารมณ์ส่วนอื่น และที่สำคัญคือขนาดของก้อนความเครียดนี้อยู่ในขนาดที่จัดการได้

A – Acknowledge and Accept การรับรู้และยอมรับว่านี่คืออารมณ์และความคิดของเรา ณ ขณะนี้ และให้ทำด้วยความเมตตาต่อตนเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจำยอมต่ออารมณ์และความคิดที่เราไม่ชอบ ให้เรารับรู้ว่าเราโอบรับความเป็นมนุษย์และอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นไปตามสถานการณ์เฉพาะขณะนี้

I – Invite การเชิญชวนให้คิด ถ้ามีโค้ชก็ให้โค้ชช่วยถาม ถ้าโค้ชตัวเองก็ใช้ขั้นตอนนี้ในการชวนให้ตัวเองคิดให้กระจ่างชัดมากขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน 1. คำถามแรกคือ “ขณะนี้ ฉันต้องการอะไร” เช่น ฉันต้องการความนิ่งเพื่อการตัดสินใจที่เฉียบคม ฉันต้องการความสงบในใจเพื่อที่จะมีสติสมาธิในการทำงาน เป็นต้น 2. “ฉันเชื่อมั่นในอะไรได้บ้าง” อาจจะตอบว่าฉันเชื่อในศักยภาพการผลิต ฉันเชื่อในความสามารถในการส่งมอบสินค้า ฉันเชื่อในสติปัญญาของตัวเอง เป็นต้น 3. “ฉันมีทรัพยากรอะไรบ้าง หรือมีอะไรบ้างที่ฉันใช้ได้” เช่น ฉันมีพนักงาน ฉันมีเวลา ฉันมีลูกค้า ฉันมีโค้ชที่ชวนฉันคิดได้ เป็นต้น 4. “ฉันจะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไรบ้าง” เช่น ฉันจะกำหนดเวลาในการโฟกัสงาน (แทนที่จะติดตามข่าวในโซเชียลตลอดเวลา) ฉันจะหาคนช่วย ฉันจะเขียนสิ่งที่อยู่ในความคิดออกมาบนกระดานเพื่อจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ฉันจะใช้จุดแข็งของฉัน ฉันจะพูดคุยกับคู่ค้าให้บ่อยขึ้น เป็นต้น

และเมื่อเราถาม คิด คุย กับตัวเองจนได้ภาพที่ชัดเจนแล้ว ก็ให้เข้าสู่ขั้นตอนสำคัญต่อไป

N – Non attachment ให้ทำความเข้าใจว่าความคิดและอารมณ์นั้นไม่ใช่ตัวเรา แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ เป็นเพียงประสบการณ์เรื่องหนี่งของเรา เมื่อเข้าใจว่านั่นไม่ใช่ตัวเรา เราก็สามารถจะกลับมาสู่ตัวตนที่แท้จริงของเราที่มีคุณค่า มีคุณลักษณะที่ดีงามมากมาย มีจุดแข็งและความเก่ง และจากตัวตนที่แท้จริงของเรานี้เองที่ทำให้เราสามารถโฟกัสไปที่การวางแผนและส่งพลังงานไปที่การลงมือทำได้

S – Self Care ในช่วงที่เรามีความตึงเครียด กังวล กับสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ เราควรจะได้ดูแลตัวเองบ้าง การดูแลตัวเองอย่างแท้จริงไม่ใช่การปรนเปรอตัวเองด้วยขนมหวานหรืออาหาร แต่เป็นการดูแลอย่างใส่ใจด้วยการเลือกอย่างตั้งใจจริงเพื่อที่จะยกระดับของความคิด อารมณ์ และร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ขึ้น ระหว่างนี้อาจจะมีเสียงในหัวที่เป็นเรื่องลบๆ หรืออาจจะมีความเชื่อบางอย่างที่ฉุดรั้งเราโผล่แว้บเข้ามาในความคิดของเราได้บ้างเป็นธรรมดา ก็ให้มีสติรู้ตัว ให้ความรักและเมตตาต่อตัวเองเพื่อเป็นการดูแลตัวเองอย่างแท้จริง

สถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบช่วงไวรัสโควิดนี้เป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่ทำให้เราได้เห็นทั้งมุมดีและมุมไม่น่ารักของเราและคนรอบตัว ซึ่งไม่นานนักเหตุการณ์นี้ก็จะผ่านไป แต่เราและคนรอบข้างยังต้องอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน คบหากันอีกนาน  การใช้ RAINS Model จึงเป็นการใช้กระบวนการโค้ชเพื่อช่วยให้คิดอย่างเป็นระบบ เพื่อดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ดีขึ้น

เรียบเรียงโดย ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข
โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองระดับ PCC จาก ICF



อ้างอิง Rain Model จากบทความ Supporting Clients Through Coronavirus-related Stress โดย Shiri Ben-Arzi, PCC

เดรดิตรูปภาพ TDRI 
 
ไม่พลาดบทความดีๆ add line เป็นเพื่อนกันค่ะ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้