ความจริงที่ซ่อนอยู่:ทำไมคนไม่กล้าพูดในที่ประชุม

ความจริงที่ซ่อนอยู่:ทำไมคนไม่กล้าพูดในที่ประชุม

ในที่ทำงานจะมีบรรยากาศแบบเงียบ เห็นด้วย ในห้องประชุม แต่พอออกจากห้องประชุมมาก็มาจับกลุ่มกันคุยว่าเมื่อกี้นี้น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่านะครับ อะไรเป็นสาเหตุให้เป็นเช่นนั้นคะ

ส่วนใหญ่เราจะได้คำตอบว่าคนที่นี่ไม่กล้าแสดงออก เค้าไม่ค่อยกล้าพูดครับ

ความสำคัญคือ เขาเหล่านั้นมีความคิดเห็น มีไอเดีย และอาจจะมีข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับองค์กรก็ได้ ใช่ไหมคะ แล้วเราจะทำอย่างไรดีจึงจะให้เขาได้แสดงความเห็นเหล่านั้นในห้องประชุมหรือในกลุ่มใหญ่มากกว่าแค่มาซุบซิบระหว่างกัน

ต้องโค้ชค่ะ ต้องสอนการสื่อสารครับ ต้องให้เขามีความมั่นใจในตนเองค่ะ ต้องให้เขาฝึกการนำเสนอครับ

คำตอบที่ผู้เขียนได้ยินบ่อยๆและมักเป็นโจทย์ให้เราได้ทำงานต่อค่ะ

ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการเทรนนิ่งเพื่อแก้ไขปัญหา เมื่อพูดคุยและฟังให้ดีๆหลายครั้งจะพบว่าปัญหาเกิดจากความไม่ไว้วางใจกันในองค์กร คือไม่เชื่อใจว่าหากพูดหรือนำเสนอสิ่งที่แตกต่างออกไปจะเกิดผลเสียอะไรบ้างกับตัวเอง หัวหน้าไม่ชอบใจ เพื่อนหมั่นไส้ พูดแล้วงานเข้ากลายเป็นงานงอก หรือไม่เป็นที่ถูกใจของผู้ใหญ่ในที่นั้น

สิ่งที่คนมีความเห็นหรือมีไอเดียจะทำคือ เงียบ เก็บงำความคิดของตัวเองไว้ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เออ-ออไปกับคนส่วนใหญ่สบายใจและปลอดภัยที่สุด

ลองจำลองสถานการณ์ดูว่าเรื่องเล็กน้อยแบบนี้จะนำไปสู่อะไรได้อีกบ้าง

รู้แต่เฉย นำไปสู่การไม่ได้ป้องกันเรื่องที่สามารถคาดเดาได้ ทำให้พลาดโอกาสดีๆทางธุรกิจ หรือไม่สามารถป้องกันเหตุบางอย่างได้ทันท่วงทีก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่คิด เป็นต้น

กรณีแบบนี้ การแก้ไขปัญหาด้วยการจัดเทรนนิ่งเรื่องการสื่อสาร การนำเสนอ หรือการสร้างความมั่นใจในการพูดในที่ประชุมอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์เท่าที่ตั้งใจไว้ เพราะผู้เรียนเข้าใจทฤษฎีและมีทักษะแล้ว แต่ไม่มีความกล้าที่จะนำมาปฏิบัติจริงในที่ทำงาน เมื่อสาเหตุยังคงอยู่การแก้ไขจากปลายเหตุจึงยังไม่ได้ผลตามต้องการ

การแก้ที่ต้นเหตุต้องใช้เวลาและความตั้งใจอย่างสูงรวมทั้งใช้ระยะเวลานานพอสมควร แต่เมื่อแก้ได้แล้วปัญหาทั้งหมดก็จะคลี่คลาย เรียกว่าถ้าแก้ได้ก็คือรีเซ็ตบรรยากาศทั้งหมดได้เลย

ปัญหาต้นเหตุ เช่น ผู้ใหญ่หรือหัวหน้าสถานะที่สูงกว่ามาก แตะต้องไม่ได้ พูดอะไรก็ถูกหมด ลูกน้องกลัวไม่กล้าเห็นต่าง เราอาจจะเริ่มที่ทำอย่างไรให้คนเชื่อมใจกันได้มากขึ้น ยอมรับความเห็นกันมากขึ้นโดยไม่กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ ทุกคนมีประโยชน์ขององค์กรเป็นเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน เป็นต้น

แม้ว่าการเริ่มต้นแก้ปัญหาจากรากจะต้องใช้ความกล้าหาญและพลังงานอย่างสูง แต่ผลที่ได้ก็คล้ายกับไม้ยืนต้นที่ซ่อมแซมรากให้แข็งแรง ลำต้นก็กลับมาแข็งแรง กิ่งก้านก็แผ่ขยายได้อย่างมั่นคง เมื่อต้นไม่กลวง รากแข็งแรง ต้นไม้ต้นนี้ก็ให้ดอกผลสม่ำเสมอ เอาตัวรอดจากลมพายุ ภัยแล้ง โรคแมลง และมีอายุยืนยาวได้แน่นอนค่ะ

เชิญชวนทุกท่านสำรวจปัญหาที่แท้จริงก่อนจะรีบกระโดดไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันค่ะ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้