โค้ชคะ งานก็ยุ่ง ลูกก็เล็ก บางวันทำงานถึงเช้า เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำงาน รู้สึกว่า Burnout ไม่ไหวแล้วค่ะ
ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในสภาวะที่จัดการเวลาได้ไม่ลงตัว ยิ่งคนที่มีศักยภาพสูง หน้าที่ความรับผิดชอบก็มีมาก และไม่อยากจะทำอะไรผิดพลาด แถมยังมีลูกในวัยเรียนที่ต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย พวกเขาจะจัดการเวลาอย่างไรให้พอกับรายการที่ต้องทำทั้งหมด
“โค้ชคะ ฉันอยากได้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเวลาค่ะ ยิ่งตอนนี้ Work From Home ค่ะ ยิ่งจัดเวลายากมาก เครียดมากเลย ทั้งที่ไม่ต้องเดินทางแล้วน่าจะมีเวลาเหลือ แต่กลับต้องทำงานดึกกว่าเดิม เวลาจะนอนก็แทบจะไม่มีเลยค่ะ”
“ก่อนจะไปถึงคำตอบว่าคุณจะจัดเวลาอย่างไร โค้ชถามก่อนค่ะว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้”
“การทำงานให้ดีสมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้มารับตำแหน่งบริหารนี้ และการเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดค่ะ อ้อ! แล้วก็มีเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้างก็พอค่ะ”
“ระดับความสำคัญของทั้ง 3 เรื่องนี้ แตกต่างกันไหมคะ”
“อันที่จริง 3 เรื่องนี้ก็สำคัญเท่าๆกันนะคะ เพราะถ้าตัวเองพักผ่อนไม่พอ เวลาทำงานก็จะเบลอๆ อาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ บางทีก็หงุดหงิดง่ายเอาอารมณ์ไปลงที่ลูกอีก มันเป็นวงจรที่เหมือนหาทางออกไม่ได้เลยค่ะ”
“ถ้ามีเพื่อนมาปรึกษาคุณเรื่องทำนองเดียวกันนี้ คุณจะให้แนะนำเขาว่าอย่างไรคะ”
“ก็จะบอกเขาว่าให้ดูว่าวันนั้นเรื่องไหนสำคัญที่สุด เช่น ถ้ามีกิจกรรมของลูกที่โรงเรียนก็ให้ไปงานของลูก แต่ถ้าวันไหนมีการประชุมนัดสำคัญกับลูกค้าและเราจำเป็นต้องอยู่ด้วยก็จะเลือกงาน”
“แล้วถ้าทั้ง 2 อย่างมาเป็นวันเดียวกันหล่ะคะ”
“โอ๊ย ยังไม่เคยเจอชนกันเลยค่ะ” ตอบเสร็จก็ทำตาโต เหมือนคิดอะไรได้ขึ้นมา “จริงด้วยค่ะโค้ช ถ้าฉันคิดว่างานสำคัญที่จำเป็นต้องมีเราอยู่ด้วยก็ไม่ได้เยอะมาก และกิจกรรมของลูกที่โรงเรียนก็ไม่ได้มีทุกเดือนด้วยซ้ำไป โอกาสชนกันน้อยมากค่ะ ฉันรู้แล้วหล่ะว่าจะจัดการเวลาระหว่าง 2 เรื่องนี้อย่างไร”
“แล้วถ้าเพื่อนมาปรึกษาเรื่องจัดเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้างหล่ะคะ”
เขาหัวเราะแล้วพูดว่า “ก็บอกเขาไปเลยว่า นอนหลับให้พอ 6-7 ชั่วโมงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้านอนไม่พอ สมองเบลอ จะทำให้งานเสียหายได้ ถ้าอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดโมโหง่าย อาจจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับลูก แถมยังไปบ่มเพาะอุปนิสัยไม่น่ารักให้ลูกอีก”
คราวนี้เขายิ้มกว้าง มองหน้าโค้ชพร้อมพูดว่า “จริงอย่างที่โค้ชบอกนะคะ ว่าถ้าเรารู้ว่าอะไรสำคัญที่สุด เราก็จะจัดการสิ่งเหล่านั้นได้”
“จากความตระหนักรู้ที่คุณพูดออกมา คุณจะจัดการกิจกรรมหลายอย่างในแต่ละวันอย่างไรดีคะ”
“อย่างแรกเลยค่ะ ต้องเข้านอนให้ได้ก่อน 5 ทุ่ม และเพื่อให้ใช้เวลาที่มีน้อย (ลากเสียงยาวเพื่อแสดงว่าน้อยมากๆ) ให้มีค่าที่สุด ฉันจะต้องลดการใช้โซเชียลมีเดียลง ไม่กระโดดไปร่วมวงสนทนาที่ไม่มีสาระ หลังจากพาลูกเข้านอนแล้ว จะกลับมาสะสางงานให้หมดภายใน 5 ทุ่ม อึม คงต้องบอกตัวเองด้วยว่าต้องเคารพเวลานอนของตัวเอง คงต้องไม่ตอบอีเมล์ตอนดึกด้วยค่ะ ไม่งั้นจะคุยยาวต่อเนื่องไปเรื่อยเลยค่ะ”
“โค้ชชื่นชมที่คุณพยามจะสร้างพฤติกรรมใหม่จากความเข้าใจใหม่นี้ โค้ชอยากจะชวนคิดว่าจะมีอะไรไหมที่ทำให้คุณเผลอกลับไปสู่วงจรเดิมอีก”
“คำถามนี้ตอบง่ายมากเลยค่ะ ก็ความเคยชินเดิมๆค่ะโค้ช อยากทำให้ได้ดีทั้งเรื่องงานและเรื่องลูก มันก็เลยยิ่งยุ่งเหยิงไปกันใหญ่ ฉันก็จะให้นิยามกับตัวเองใหม่ว่าคำว่าทำให้ได้ดีหมายความว่าเราต้องมีสติ มีความพร้อมที่จะทำให้ได้ดี โดยไม่ได้ต้องหมายความว่าทำหมดทุกอย่างด้วยตัวเอง หรือต้องทำตอนนี้ทั้งๆที่ดึกมากๆแล้ว คำว่า “ทำให้ดี” ควรจะมาคู่กับ “ในเวลาที่เหมาะสม” ด้วยค่ะ”
“คุณจะเตือนตัวเองอย่างไรคะว่า “ทำให้ได้ดีในเวลาที่เหมาะสม”
“เดี๋ยวจะทำไว้ใน Wallpaper โทรศัพท์มือถือ แล้วก็หน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยค่ะ ตั้งใจจะทำให้เป็นอุปนิสัยใหม่ให้ได้ค่ะโค้ช”
การจัดการเวลาเป็นหัวข้อที่ผู้รับการโค้ชยกขึ้นมาคุยบ่อยมาก แต่ละคนก็มีทางออกแตกต่างกันไป ในครั้งนี้โค้ชหยิบเรื่องความสำคัญของเป้าหมายขึ้นมาพูดคุยก่อน เมื่อเข้าใจแล้วว่าสำคัญอย่างไร ผู้รับการโค้ชก็จะคิดวิธีการไปสู่เป้าหมายได้เอง
ดร.หนิง ดไนยา ตั้งอุทัยสุข
ติดตามได้ทาง Line OA คุณจะไม่พลาดบทความพัฒนาผู้นำจากเรา
https://lin.ee/CWQqKwT