การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ จริงหรือ? แล้วเราเปลี่ยนได้ง่ายๆอย่างเป็นธรรมชาติได้ไหม?
หลายครั้งเราพบกว่าการคิดแบบเดิม การลงมือทำแบบเดิม ไม่สามารถนำเราไปสู่คำตอบแบบที่เราต้องการได้ เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดและวิธีการลงมือทำของเรา
ทำไมการเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญ
หากเราลงมือทำแบบเดิมเราก็คงได้ผลลัพธ์แบบเดิม การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเครื่องมือที่นำพาเราไปสู่สิ่งใหม่ที่เราต้องการ อีกมุมหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงก็เป็นการพัฒนาตัวเอง หากเราหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงอะไรแต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนไปแล้ว เราก็คง “ตามไม่ทัน” สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้เรายังมองการเปลี่ยนแปลงในเชิงการพัฒนาจากภายในของตนเองได้ด้วย การเป็นคนที่ดีกว่าเดิม เช่น เป็นคนที่ใจเย็นมากขึ้น การคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเองมากกว่าเดิม ตัดสินคนอื่นช้าลงกว่าเดิม การมองโลกให้สดใสขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น การเป็นคนที่ดีกว่าเดิมจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเองของคนๆนั้น
ทำไมการเปลี่ยนแปลงจึงยาก
พฤติกรรมที่เราทำเป็นประจำจนกลายเป็นอุปนิสัยนั้นติดตัวเรามานาน กลายเป็นการกระทำแบบอัตโนมัติ ตอบสนองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดว่าจะทำอย่างไร ไม่ต้องใคร่ครวญว่าดีหรือไม่ เมื่อผลลัพธ์หรือการตอบสนองจากพฤติกรรมของเราไม่ได้เป็นไปในแบบที่เราต้องการ เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีการของเรา
การเปลี่ยนแปลงมีหลายระดับ และไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆถึงแม้ว่าจะรู้ว่าต้องเปลี่ยนอะไรก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเริ่มต้นที่ไหน
ลองพิจารณาดูว่าพฤติกรรมที่เราไม่ชอบและต้องการเปลี่ยนมีจุดกำเนิดจากอะไร เช่น เราเป็นคนโมโหง่าย ลองคิดดูว่าเราถูกจี้จุดอะไรนะถึงโมโหทุกที อะไรนะทำให้เราโมโห เราอาจจะพบว่า อ๋อ ถ้าเราถูกถามคำถามแบบท้าทายเราจะโมโห เพราะรู้สึกว่าเขาไม่เชื่อถือเราจึงท้าทาย และพฤติกรรมโมโหของเราทำให้เราดูไม่ดีในสายตาเพื่อนร่วมงาน
ทันทีที่เรามีความตระหนักว่าตัวจี้จุดคืออะไร ให้เรา “ทำงาน” กับเรื่องนั้น ในตัวอย่างนี้อาจจะค้นหาเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเชื่อถือของเราว่าทำไมถึงกระตุ้นให้เราโมโห เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มต้นที่ค้นหาว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมนั้น จะทำให้เรารู้ว่าจะไปจัดการที่ไหนแทนที่จะมุ่งจัดการที่พฤติกรรมอย่างเดียว เช่น เราค้นพบว่าการไม่ได้รับความเชื่อถือเกิดขึ้นเมื่อครั้งเป็นนักเรียน เราพูดอะไรบางอย่างแล้วเพื่อนทั้งห้องหัวเราะใส่เรา และเอาเรื่องนี้ไปล้อเลียนอีกหลายครั้ง แต่ขณะนี้เราไม่ใช่นักเรียนคนนั้นแล้ว เราโตขึ้นแล้ว สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปแล้ว พฤติกรรมนี้ไม่ส่งเสริมให้เราเติบโตในหน้าที่การงาน เราจะละทิ้งพฤติกรรมโมโหจากการถูกท้าทาย เพราะมันไม่เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือใดๆ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม แม้จะรู้ว่าจุดกำเนิดของพฤติกรรมนั้นคืออะไร ก็ยังต้องมีแผนการฝึกพฤติกรรมใหม่ๆที่เราพึงประสงค์ หรือกำจัดพฤติกรรมที่เราต้องการเปลี่ยนด้วย เพื่อให้สิ่งใหม่กลายเป็นอัตโนมัติและการกระทำแบบเดิมน้อยลงจนหายไป เช่น ทำเป็นบันทึกประจำวันว่าวันนี้เราหยุดพฤติกรรมเดิมได้ทันกี่ครั้ง และหยุดไม่ทันกี่ครั้ง พรุ่งนี้จะทำให้ดีกว่าเดิมอย่างไร นอกจากนี้อาจจะมีโค้ชหรือเพื่อนที่เราจะอัพเดตความก้าวหน้าในเรื่องนี้กับเขา ช่วยให้เรามีคำมั่นสัญญากับตัวเองแข็งแรงมากขึ้น
ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง การค้นหาต้นตอของพฤติกรรมที่ไม่ต้องการหรือตัวที่จี้จุดให้เจอ ทำงานกับต้นตอนี้ มีแผนฝึก มีบันทึก มีคนเป็นพยาน จะส่งเสริมให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราเป็นไปได้ตามที่ต้องการ
ดร.หนิง ดไนยา ตั้งอุทัยสุข