หลายปีมานี้คนพูดถึงโค้ชกันมาก มีทั้งในทางที่เป็นบวกและทางที่ไม่ค่อยดีเท่าไร สงสัยกันไหมคะว่าการโค้ช หรือ โค้ชชิ่งคืออะไร และต้องมีทักษะอะไรบ้างถึงจะเป็นโค้ชได้
องค์กรต่างๆมีความตื่นตัวอย่างมาก ถึงกับเชิญวิทยากรมาสอนให้ผู้นำรู้จักการโค้ช ฝีกให้โค้ชเป็น ผู้บริหารหลายคนมีโค้ชส่วนตัวแบบที่เรียกว่า Executive Coach การทำโปรเจ็คใดๆก็มักจะมีการโค้ชกลุ่มหรือโค้ชทีม เรียกว่า Group Coaching, Team Coaching ด้วย
ในด้านการพัฒนาบุคคลมีการพูดถึงการค้นหาตัวตน การนำศักยภาพสูงสุดของบุคคลออกมาใช้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง
เมื่อกระแสเป็นไปในแนวนี้ทั้งระดับบุคคลและระดับองค์กร ทักษะการโค้ชจึงน่าสนใจมากขึ้น เรียกว่าใครๆก็อยากรู้ว่าโค้ชเป็นใคร เขาต้องเรียนอะไรมาจึงจะมาเป็นโค้ชได้
ในการเรียนวิชาโค้ชชิ่ง การปรับ Mindset เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น ทักษะการฟังทำให้เราต้องฟังทั้งสิ่งที่เขาพูดออกมาและสิ่งที่เขาแสดงออกทั้งที่ตั้งใจและไม่รู้ตัว คนที่ฝึกทักษะการโค้ชจึงค่อยๆเปลี่ยนไป อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ฟังมากขึ้น ใส่ใจมากขึ้น พิพากษาช้าลง ให้โอกาสคนอื่นได้แสดงบทบาทแสดงฝีมือ ได้พูดความคิด ได้แสดงความเห็น และแสดงให้เห็นว่าคนมีความเท่าเทียมกัน
บรรยากาศในทีมก็ดีขึ้น คนชวนกันคิด ชวนกันฟัง อคติต่อกันน้อยลง ยอมรับกันมากขึ้น องค์กรจึงมีมลพิษน้อยลง ส่งผลให้ผลงานของบุคคลและทีมดีขึ้นด้วย เรียกว่าได้ทั้งผลงานและได้ทั้งความสัมพันธ์อันดี win-win ด้วยกันทุกฝ่าย
บรรยากาศในครอบครัวเย็นขึ้น พูดคุยถามไถ่มากขึ้น กล่าวโทษกันน้อยลง แสดงออกต่อกันอย่างใส่ใจ ระมัดระวัง ไม่ระเบิดอารมณ์กันง่ายๆ ปฏิบัติต่อกันด้วยความปรารถนาดีและความรู้สึกดีๆอย่างแท้จริง
ดังนั้นการเรียนวิชาโค้ชจึงไม่ใช่เพื่อให้เกิดทักษะทางวิชาชีพเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นการฝึกฝนคือการขัดเกลาตนเอง มีสมาธิมากขึ้น อยู่กับความเป็นจริงมากกว่าการตีความ ผลพลอยได้คือบรรยากาศรอบตัวที่ดีขึ้นทั้งในที่ทำงานและส่วนตัว เมื่อฝึกฝนตนเองได้แล้ว การใช้ทักษะต่างๆเพื่อการโค้ชจึงจะเป็นธรรมชาติ และใช้อย่างได้ผล
ดร.หนิง ดไนยา ต้ังอุทัยสุข
โค้ชผู้บริหาร ที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์การโค้ชนานาชาติ