หัวข้อที่พบได้บ่อยในการโค้ชช่วงที่ต้อง Work From Home คือ Work Life Balance และ สภาวะ Burnout ซึ่งบางคนก็มีข้อใดข้อหนึ่งและบางคนก็มีทั้งสองหัวข้อ
จากประสบการณ์ในการโค้ชซึ่งไม่ใช่จิตแพทย์และไม่ได้นำเสนอในมุมมองของนักจิตวิทยา จะแชร์จากสิ่งที่พบในกระบวนการโค้ชในบทความนี้ทั้งสาเหตุและการจัดการกับสภาวะ Burnout
ในกระบวนการโค้ชที่ผู้รับการโค้ชมีหัวข้อสนทนาชัดเจนว่าตัวเอง Burnout และอยากให้โค้ชช่วย เราพบว่าที่มาของอาการดังกล่าวมาจากสาเหตุต่างกัน
การเข้ามารับตำแหน่งงานใหม่ ต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งต้องเรียนรู้เนื้อหาของงาน ส่งมอบงานให้เทียบเท่าหรือมากกว่า Roles & Responsibilities ที่ตกลงไว้ เมื่อได้พูดคุยกับโค้ช ผู้รับการโค้ชบางคนจะพบว่านี้เป็นภาวะชั่วคราวที่ทุกอย่างประดังเข้ามา เขาต้องจัดลำดับความสำคัญและให้เวลาตัวเองในบางเรื่องให้นานขึ้น บางคนบอกว่าต้องใจดีกับตัวเองบ้างอย่ากดดันตัวเองมากเกินไป ความรู้สึกลนลานตลอดเวลานอกจากไม่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีแล้ว ยังเป็นการใช้พลังงานร่างกายอย่างไม่มีประสิทธิภาพด้วย
หลายคนเติบโตมาในการทำงานแบบคนเดียว ถนัดแบบลุยเดี่ยวไม่ต้องยุ่งกับใคร เมื่อมีความก้าวหน้าในงานต้องมีทีมงานก็ไม่ค่อยถนัดและต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นในการสื่อสาร ทำความเข้าใจ และติดตามงาน การทำงานที่ต้องบริหารทีมเป็นภารกิจที่ต้องใช้พลังงานมาก ทำให้เหนื่อยและหมดแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนอื่นทำงานไม่ได้ดั่งใจตัวเอง
เมื่อได้สะท้อนความคิดกับโค้ช บางคนกลับไปเพิ่มทักษะการบริหารคนให้มากขึ้น บางคนจัดเวลาเฉพาะในการพูดคุยกับทีมงานเพื่อให้แน่ใจว่าได้ทั้งผลลัพธ์ของงานและยังรักษาความสัมพันธ์ในงานให้ดีได้ ทีมงานบางคนต้องการให้สอน บางคนไม่ชอบให้จู้จี้ บางคนชอบมาอัพเดตบ่อยๆ เมื่อสามารถบริหารคนตามสไตล์ของเขาแล้วก็จัดการความคาดหวังและอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้นด้วย
สภาวะ Burnout หรือหมดไฟ สามารถจัดการได้ การได้พูดคุยกับโค้ชเพื่อหาที่มาที่ไป และทางออกของสภาวะนี้ทำให้บริหารจัดการพลังกายพลังใจของตัวเองได้ดีขึ้น และใช้ศักยภาพเพื่อสร้างผลงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ