ความถนัดในการรับรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
บางคนจะรับรู้ได้ดีเมื่อเห็นเป็นภาพ คิดตามสีงที่ได้ยินหรือได้อ่านเป็นภาพ เห็นเป็นความเคลื่อนไหวราวกับฉากในหนัง เรียกว่าเป็นคน Type V - Visual
ส่วนบางคนกลับถนัดที่จะรับฟัง ทำความเข้าใจจากการได้ยินคนบรรยาย เล่าให้ฟัง เรียนรู้ได้ดีเมื่อมีคนพูดให้ฟัง กลุ่มนี้เราเรียกว่าคน Type A - Auditory
ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถนัดรับรู้ด้วยการสัมผัส การมีประสบการณ์ได้ลงมือทำ ได้รู้สึกว่ามันเป็นอย่างไร เรียกว่าคน Type K - Kinesthetic
ต่างจากอีกกลุ่มที่ต้องการข้อมูล ข้อเท็จจริง สถิติต่างๆ มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูล เนื้อหาหรือคำอธิบายแบบลงรายละเอียด และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ซึ่งเรียกว่าคน Type Ad - Auditory Digital
การเข้าใจความแตกต่างของ V , A, K, Ad นี้มีประโยชน์อย่างไร
หากเราต้องสื่อสารเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ เช่น เพื่อให้เขาได้เข้าใจ ได้ลงมือทำตามที่เราบอก เราก็จะเลือกใช้คำพูดหรือคำบรรยายที่เหมาะกับความถนัดของเขา เรียกว่าสื่อให้ตรงกับจริตของผู้รับการสื่อสารก็ได้ หรือหากเราเป็นโค้ช ก็สามารถสะท้อนหรือถามด้วยคำพูดที่ทำให้เขาฟังได้ง่ายไม่ต้องแปลอีกครั้ง จะได้ใช้พลังความคิดในตัวเองได้เต็มที่
นอกจากนี้ คนที่เข้าใจจริตการเรียนรู้ของตัวเอง ก็จะได้มีความตระหนักรู้ว่า ขณะนี้เรากำลังใช้โหมดความถนัดของเรามากเกินไปจนเกินประโยชน์หรือไม่ กลับมาหาความพอดีได้อย่างรู้เนื้อรู้ตัว
การเข้าใจความถนัดในการเรียนรู้เป็นเรื่องไม่ยากแต่ต้องอาศัยความช่างสังเกตุสักหน่อยก็จะทำให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว